ประเด็นร้อน

ยกเว้นลักษณะต้องห้าม 'ป.ป.ช.' ปัญหาวัวพันหลักองค์กรอิสระ

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 26,2017

 - - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -

 

คอลัมน์ กรองสถานการณ์

 

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ สนช.เห็นชอบในวาระ 3 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่อัปยศที่สุดในยุค คสช.นอกจากผิดประเพณีการพิจารณากฎหมายโดยไม่ยอมลงมติทีละมาตราเมื่ออภิปรายเสร็จในวาระ 2 ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม แต่กลับเลื่อนการลงมติย้อนหลังรวดเดียวทั้ง 193 มาตรา ในวันที่ 25 ธันวาคม โดยมีการกล่าวหาว่า สนช.ต้องการทิ้งเวลาไว้ให้เกิดการล็อบบี้เพื่อสนองเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจ

         

โดยเฉพาะการต่อวีซ่าให้ 7 คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นเวลา 9 ปี หลังได้รับตำแหน่งตามกฎหมายเดิม ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างมาก แก้ไขให้ 5 คน ที่ส่วนใหญ่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี ให้ดำรงต่อไป ประกอบด้วย นายปรีชา เลิศกมลมาศ, พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง, นายณรงค์ รัฐอมฤต, นางสาวสุภา ปิยะจิตติ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์

         

สำหรับ ป.ป.ช.ทั้ง 5 คน นี้ กรธ.เสียงข้างน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจาก กรธ.ส่งมาไม่ค่อยติดใจ เพราะเป็นการยกเว้นคุณสมบัติเชิงบวก ที่กรรมการในองค์กรอิสระควรจะมี อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานเอาไว้เป็นอำนาจของ สนช.ในการยกเว้นคุณสมบัติขององค์กรอิสระได้ หลัง 36 สนช.เคยยื่นให้ตีความคุณสมบัติของ 2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญให้อยู่ในตำแหน่งมาแล้ว

         

แต่ที่เป็นประเด็นปัญหา และสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็คือกรณี กมธ.เสียงข้างมาก เขียนยกเว้น "ลักษณะต้องห้าม" ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์เชิงลบ ที่อยู่ในหมวดเดียวกับ การถูกจำคุก ติดยาเสพติด ทุจริต และการยกเว้นเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในการพิจารณากฎหมายในสภาฯ และศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เคยวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวด้วย

         

โดยเฉพาะมาตรา 178 ใน 2 วงเล็บ ของร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ที่เขียนยกเว้นไว้ให้ คือ (1) การยกเว้นคุณสมบัติเรื่องเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน และ (18) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา ซึ่งมี 2 คน คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ที่เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. และ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2558

         

นอกจากนี้ยังพบว่า เป็นการเขียนกฎหมายอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคท้าย ระบุชัดว่า การตรากฎหมายนั้นต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีหนึ่งกรณีใดหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ อีกทั้งอาจจะกระทบต่อการทำงานของ ป.ป.ช.ในภายภาคหน้า โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของ พล.ต.อ.วัชรพล และนายวิทยา หากต้องไปชี้มูลบุคคลใด หรือนักการเมือง ก็จะถูกผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นจำเลยร้องได้ว่าสองคนนี้ขาดคุณสมบัติอันเนื่องมาจากมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

         

ไม่นับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นนี้ ก็อาจเกิดปัญหาทับซ้อน และ "วัวพันหลัก" เกิดขึ้นกับองค์กรตัวเอง ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ แต่กลับสร้างบรรทัดฐานวินิจฉัยรับรองให้ผู้ตรวจการแผ่นดินให้อยู่ในตำแหน่ง แม้คุณสมบัติจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาแล้วด้วย

         

อย่างไรก็ตาม แม้ภายหลัง สนช.เห็นชอบกฎหมายดังกล่าว ท่ามกลางข้อสันนิษฐานว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะผู้ชี้ประเด็นปัญหามากมาย และส่งตัวแทนเข้าไปในชั้น กมธ.เสียงข้างน้อยในชั้นพิจารณาในวาระ 2 และ 3 เพื่อคัดค้านเสียงข้างมาก แต่กลับมีกระแสข่าวว่าจะไม่ยื่นเรื่องให้ประธาน สนช.ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ตามรัฐธรรมนูญ 267 เพื่อวีโต้กฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง เพราะไม่ต้องการไปทำลายองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งซ้ำเติม ป.ป.ช.ให้แย่ในสายตาสังคมมากไปกว่านี้อีก

         

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ผู้ยกร่างกฎหมาย ป.ป.ช. พลิ้วหาทางออกว่า ไม่ได้ติดใจว่าจะให้อยู่ต่อไปหรือไม่ แต่ติดใจตรงที่ไปยกเว้นลักษณะต้องห้าม และเขาไม่แน่ใจว่าการเขียนเช่นนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากขัดเมื่อไปวินิจฉัยเรื่องใดหากมีคนโต้แย้งขึ้นมาจะลำบาก

         

"การยกเว้นเป็นการเฉพาะเช่นนั้น ถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่ง สนช.อาจจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความจะได้จบปัญหา ทั้งนี้ กรธ.แม้จะสามารถยื่นโต้แย้งได้ แต่ไม่มีช่องทางจะส่งศาลรัฐ ธรรมนูญตีความได้ ต้องเป็นหน้าที่ของ สนช." นายมีชัยระบุ

         

นับเป็นอีกความมัวหมองในแม่น้ำ 4 สาย ที่ไม่สนใจหลักนิติธรรม ที่เชื่อว่าจะเกิดปัญหาทางการเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน

 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw